วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การใช้ตั๋วแลกเงินเป็นหลักประกันซอง


          ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 141 กำหนดว่า หลักประกันซองหรือหลักประกันสัญญาให้ใช้หลักประกันอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
          1) เงินสด
          2) เช็คที่ธนาคารเซ็นสั่งจ่ายซึ่งเป็นเช็คลงวันที่ที่ใช้เช็คนั้นชำระต่อเจ้าหน้าที่ หรือก่อนวันนั้นไม่เกิน 3 วันทำการ
          3) หนังสือค้ำประกันของธนาคารภายในประเทศตามตัวอย่างที่ กวพ. กำหนด
          4) หนังสือค้ำประกันของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพาณิชย์ และประกอบธุรกิจค้ำประกันตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามรายชื่อบริษัทเงินทุนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งเวียนให้ส่วนราชการต่าง ๆ ทราบแล้ว โดยอนุโลมให้ใช้ตามตัวอย่างหนังสือค้ำประกันของธนาคารที่ กวพ. กำหนด
          5) พันธบัตรรัฐบาลไทย
          กรณีตั๋วแลกเงิน คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) ได้ตอบข้อหารือของกรมชลประทาน ความว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 141 ซึ่งได้กำหนดในเรื่องหลักประกันซองไว้ โดยกำหนดให้ใช้หลักประกันอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดไว้ใน 1) - 5) ซึ่งการพิจารณาต้องใช้บรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ ตามตัวอักษร ดังนั้น เมื่อตั๋วแลกเงินมิได้ต้องด้วยบทบัญญัติตามระเบียบฯ ข้อ 141 จึงไม่อาจนำมาใช้เป็นหลักประกันซองตามนัยระเบียบฯ ข้อดังกล่าวได้  และเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ 21 ตั๋วเงิน จะเห็นได้ว่าในเรื่องตั๋วเงินตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีสามประเภท คือ ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และ เช็ค ซึ่งหากระเบียบฯ ข้อ 141 มีความประสงค์จะให้ตั๋วเงินประเภทอื่น ๆ สามารถใช้เป็นหลักประกันซองได้ ระเบียบฯ ก็น่าจะกำหนดไว้ให้ชัดเจนดังเช่นกรณีของเช็ค ดังนั้น ตั๋วแลกเงินถึงแม้ว่าจะสามารถใช้ได้เช่นเดียวกันกับเช็คแต่ระเบียบฯ ก็ไม่มีเจตนารมณ์ให้ใช้ตั๋วแลกเงินเป็นหลักประกันซอง


ที่มา : หนังสือเวียน ที่ กค (กวพ) 0408.4/12007  ลงวันที่  9 พฤษภาคม 2549

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น