วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การนำหลักประกันซองมาใช้เป็นหลักประกันสัญญา

          ตามที่ระเบียบสำนักรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 141 กำหนดประเภทของหลักประกันซองหรือหลักประกันสัญญา ให้ใช้หลักประกันอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
          (1) เงินสด
          (2) เช็คที่ธนาคารเซ็นสั่งจ่าย ซึ่งเป็นเช็คลงวันที่ที่ใช้เช็คนั้นชำระต่อเจ้าหน้าที่ หรือก่อนวันนั้นไม่เกิน 3 วันทำการ
          (3) หนังสือค้ำประกันของธนาคารภายในประเทศตามตัวอย่างที่ กวพ. กำหนด
          (4) หนังสือค้ำประกันของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพาณิชย์และประกอบธุรกิจค้ำประกันตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามรายชื่อบริษัทเงินทุนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งเวียนให้ส่วนราชการต่างๆ ทราบแล้ว โดยอนุโลมให้ใช้ตามตัวอย่างหนังสือค้ำประกันของธนาคารที่ กวพ. กำหนด
          (5) พันธบัตรรัฐบาลไทย

          และข้อ 144 กำหนดให้ส่วนราชการคืนหลักประกันให้แก่ผู้เสนอราคาคู่สัญญาหรือผู้ค้ำประกัน ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
          1) หลักประกันซองให้คืนให้แก่ผู้เสนอราคาหรือผู้ค้ำประกันภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้พิจารณาในเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว เว้นแต่ผู้เสนอราคารายที่คัดเลือกไว้ซึ่งเสนอราคาต่ำสุดไม่เกิน 3 ราย ให้คืนได้ต่อเมื่อได้ทำสัญญาหรือข้อตกลง หรือผู้เสนอราคาได้พ้นจากข้อผูกพันแล้ว
          2) หลักประกันสัญญาให้คืนให้แก่คู่สัญญาหรือผู้ค้ำประกันโดยเร็ว และอย่างช้าต้องไม่เกิน 15 วัน นับแต่วันที่คู่สัญญาพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญาแล้ว

         คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) ได้พิจารณาเห็นว่า เพื่อให้กการการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ของส่วนราชการเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และคล่องตัวยิ่งขั้น และเพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระให้แก่ผู้รับจ้างหรือผู้ขายที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าทำสัญญากับทางราชการ จึงเห็นสมควรอนุมัติยกเว้นเป็นหลักการว่า ในกรณีที่ผู้เสนอราคารายใดได้นำหลักประกันซอง ตามนัยระเบียบฯ ข้อ 141 (1) และ (2) ซึ่งส่วนราชการได้นำเข้าบัญชีเงินฝากของส่วนราชการนั้นแล้ว หากต่อมาผู้เสนอราคารายนั้นได้รับการคัดเลือกให้เข้าทำสัญญากับทางราชการ และมีความประสงค์จะนำหลักประกันซองดังกล่าว มาใช้เป็นหลักประกันสัญญาต่อไป ก็ให้สามารถกระทำได้ ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขว่าในวันทำสัญญา ส่วนราชการคู่สัญญาจะต้องดำเนินการจัดให้มีการทำหลักฐานการคืนหลักประกันซอง พร้อมทั้งจัดทำหลักฐานการวางหลักประกันสัญญาให้แก่คู่สัญญา ให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียวกันกับวันทำสัญญานั้น โดยคู่สัญญาต้องนำหลักประกันซอง (เพิ่ม-ลด) มาวางให้เท่ากับลงเงินหลักประกันสัญญา

วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การใช้ตั๋วแลกเงินเป็นหลักประกันซอง


          ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 141 กำหนดว่า หลักประกันซองหรือหลักประกันสัญญาให้ใช้หลักประกันอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
          1) เงินสด
          2) เช็คที่ธนาคารเซ็นสั่งจ่ายซึ่งเป็นเช็คลงวันที่ที่ใช้เช็คนั้นชำระต่อเจ้าหน้าที่ หรือก่อนวันนั้นไม่เกิน 3 วันทำการ
          3) หนังสือค้ำประกันของธนาคารภายในประเทศตามตัวอย่างที่ กวพ. กำหนด
          4) หนังสือค้ำประกันของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพาณิชย์ และประกอบธุรกิจค้ำประกันตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามรายชื่อบริษัทเงินทุนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งเวียนให้ส่วนราชการต่าง ๆ ทราบแล้ว โดยอนุโลมให้ใช้ตามตัวอย่างหนังสือค้ำประกันของธนาคารที่ กวพ. กำหนด
          5) พันธบัตรรัฐบาลไทย
          กรณีตั๋วแลกเงิน คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) ได้ตอบข้อหารือของกรมชลประทาน ความว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 141 ซึ่งได้กำหนดในเรื่องหลักประกันซองไว้ โดยกำหนดให้ใช้หลักประกันอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดไว้ใน 1) - 5) ซึ่งการพิจารณาต้องใช้บรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ ตามตัวอักษร ดังนั้น เมื่อตั๋วแลกเงินมิได้ต้องด้วยบทบัญญัติตามระเบียบฯ ข้อ 141 จึงไม่อาจนำมาใช้เป็นหลักประกันซองตามนัยระเบียบฯ ข้อดังกล่าวได้  และเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ 21 ตั๋วเงิน จะเห็นได้ว่าในเรื่องตั๋วเงินตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีสามประเภท คือ ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และ เช็ค ซึ่งหากระเบียบฯ ข้อ 141 มีความประสงค์จะให้ตั๋วเงินประเภทอื่น ๆ สามารถใช้เป็นหลักประกันซองได้ ระเบียบฯ ก็น่าจะกำหนดไว้ให้ชัดเจนดังเช่นกรณีของเช็ค ดังนั้น ตั๋วแลกเงินถึงแม้ว่าจะสามารถใช้ได้เช่นเดียวกันกับเช็คแต่ระเบียบฯ ก็ไม่มีเจตนารมณ์ให้ใช้ตั๋วแลกเงินเป็นหลักประกันซอง


ที่มา : หนังสือเวียน ที่ กค (กวพ) 0408.4/12007  ลงวันที่  9 พฤษภาคม 2549

วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การพิจารณางด หรือ ลดค่าปรับให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้าง กรณีผู้ขายหรือผู้รับจ้างของดหรือลดค่าปรับ

          ปัจจุบัน มีส่วนราชการต่างๆ มีปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณางด หรือลดค่าปรับให้กับผู้ขายหรือผู้รับจ้าง กรณีผู้ขายหรือผู้รับจ้างของดหรือลดค่าปรับ อันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยที่เกิดขึ้นภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลาทำการตามสัญญาแล้ว ส่วนราชการจะพิจารณางด หรือลดค่าปรับตามที่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างร้องขอตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 139 (2) ซึ่งกำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการพิจารณางดหรือลดค่าปรับ หรือการขยายเวลาทำการตามสัญญาหรือข้อตกลงให้แก่คู่สัญญาไว้ด้วยเหตุสุดวิสัยได้หรือไม่ ซึ่งเหตุแห่งการพิจารณางด หรือลดค่าปรับ จะต้องเป็นเหตุอุปสรรคที่มีส่วนสัมพันธ์กับการส่งมอบสิ่งของหรืองานจ้างตามสัญญาหรือข้อตกลง และส่งผลกระทบโดยตรงที่ทำให้คู่สัญญาไม่สามารถส่งมอบสิ่งของหรืองานจ้างได้ทันภายในกำหนดระยะเวลาตามสัญญาหรือไม่
          คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) เห็นควรซักซ้อมความเข้าใจแนวทางการปฏิบัติตามระเบียบฯ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานต่างๆ ถือปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือ ในการพิจารณางดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญาด้วยเหตุตามระเบียบฯ ข้อ 139 ดังนี้
          1. เหตุเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของส่วนราชการ
          2. เหตุสุดวิสัย
          3. เหตุเกิดจากพฤติการณ์อันหนึ่งอันใดที่คู่สัญญาไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย
          ซึ่งเหตุดังกล่าวมีผลกระทบโดยตรงที่ทำให้ผู้ขายหรือผู้รับจ้างไม่สามารถส่งมอบสิ่งของหรืองานจ้างตามสัญญาซื้อขายหรือสัญญาจ้าง แล้วแต่กรณี ให้อยู่ในอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการที่จะพิจารณาได้ตามจำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริง โดยส่วนราชการจะต้องพิจารณาว่า คู่สัญญาได้ปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงให้กับทางราชการเป็นไปอย่างปกติตลอดมา และต้องไม่มีพฤติการณ์ที่จะทิ้งงานของทางราชการ หากมีเหตุผลอันสมควรที่จะพิจารณางดหรือลดค่าปรับตามสัญญา แม้ได้ดำเนินการล่วงเลยกำหนดระยะเวลาส่งมอบหรือแล้วเสร็จตามสัญญาหรือข้อตกลงจนมีค่าปรับเกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่ต้องยังมิได้มีการตรวจรับงานงวดสุดท้าย
          โดยให้ถือปฏิบัติและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2555 และให้มีผลกับสัญญาหรือข้อตกลง ซึ่ง ณ วันที่ที่หนังสือมีผลบังคับใช้ ยังมิได้การตรวจรับงานงวดสุดท้าย

ที่มา : หนังสือเวียน ที่ กค (กวพ) 0421.3/ว 268 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2555

การบอกเลิกสัญญา

          การบอกเลิกสัญญา ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 138 ซึ่งกำหนดว่า "ในกรณีที่คู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงได้ และจะต้องมีการปรับตามสัญญาหรือข้อตกลงนั้น หากจำนวนเงินค่าปรับจะเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้าง ให้ส่วนราชการพิจารณาดำเนินการบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง เว้นแต่ คู่สัญญาจะได้ยินยอมเสียค่าปรับให้แก่ทางราชการโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ให้หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาได้เท่าที่จำเป็น"
          คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) เห็นควรซักซ้อมความเข้าใจแนวทางการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน ดังนี้
          1. เมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของหรืองานจ้างที่กำหนดไว้ในสัญญา และได้ล่วงเลยกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจนมีค่าปรับเกิดขึ้นแล้ว เมื่อจำนวนค่าปรับที่เกิดขึ้นจะเกินกว่าร้อยละสิบของวงเงินค่าพัสดุ หรือค่าจ้างตามสัญญาหรือข้อตกลง ให้ส่วนราชการมีหนังสือแจ้งบอกกล่าวกับคู่สัญญาว่าจำนวนค่าปรับที่เกิดขึ้นจะเกินกว่าร้อยละสิบแล้ว และจะดำเนินการบอกเลิกสัญญาต่อไป เว้นแต่คู่สัญญาจะได้มีหนังสือแจ้งภายในเวลาที่กำหนด โดยจะยินยอมเสียค่าปรับให้แก่ทางราชการโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น
          2. กรณีที่คู่สัญญาได้มีหนังสือแจ้งความยินยอมเสียค่าปรับให้แก่ทางราชการโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ภายในเวลาที่กำหนด ให้หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาได้เท่าที่จำเป็น โดยส่วนราชการต้องประเมินความคืบหน้าการดำเนินการตามสัญญาของคู่สัญญาว่า การผ่อนปรนดังกล่าวจะทำให้คู่สัญญาดำเนินการแล้วเสร็จหรือไม่ หรือจะต้องใช้ดุจพินิจว่าจะบอกเลิกสัญญาหรือไม่ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
               2.1 ในกรณีที่เห็นว่า ควรผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญา ให้ส่วนราชการแจ้งคู่สัญญาให้รับทราบ และดำเนินการตามสัญญาโดยเร็ว โดยคู่สัญญาจะต้องกำหนดแผนและเวลาการดำเนินการแล้วเสร็จให้ชัดแจน
               2.2 ในกรณีที่จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ให้ส่วนราชการแจ้งการบอกเลิกสัญญาไปยังคู่สัญญาโดยเร็ว ทั้งนี้ การแจ้งบอกเลิกสัญญาจะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมกับแจ้งการปรับ และริบหลักประกันสัญญา (ถ้ามี)
          3. กรณีที่คู่สัญญาได้มีหนังสือแจ้งความยินยอมเสียค่าปรับให้แก่ทางราชการโดยมีเงื่อนไข หรือกรณีคู่สัญญาไม่มีหนังสือแจ้งความยินยอมดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ส่วนราชการแจ้งการบอกเลิกสัญญาไปยังคู่สัญญาโดยเร็ว ทั้งนี้ การแจ้งบอกเลิกสัญญาจะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมกับแจ้งการปรับ และริบหลักประกันสัญญา (ถ้ามี)

ที่มา : หนังสือเวียน ที่ กค (กวพ) 0421.3/ว 267 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2555

วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่บุคคลหรือนิติบุคคลเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ

ประเภทของสัญญา
     1. สัญญาที่เกี่ยวกับการจัดหาพัสดุหรือการพัสดุตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการพัสดุ (ไม่รวมถึงสัญญาทางธุรกิจ)
     2. สัญญาสัมปทาน
     3. สัญญาให้ทุนสนับสนุนเพื่อการวิจัย
     4. สัญญาให้ทุนสนับสนุนเพื่อดำเนินกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
     * กรณีมีการแก้ไขสัญญาในส่วนที่เป็นสาระสำคัญภายหลังประกาศฯ มีผลบังคับใช้ คู่สัญญาต้องยื่นบัญชีรายการรับจ่ายด้วย

มูลค่าของสัญญา
     - ปีแรก (1 เม.ย. 55 - 31 มี.ค. 56) ใช้บังคับกับสัญญาที่มีมูลค่าตั้งแต่ 2 ล้านบาท
     - ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 56 เป็นต้นไป ใช้บังคับกับคู่สัญญาที่มูลค่าตั้งแต่ 5 แสนบาท

ข้อยกเว้นการใช้บังคับ
     1. ไม่ใช้บังคับกับสัญญาที่ได้ทำก่อนวันที่ 1 เมษายน 2555 เว้นแต่มีการแก้ไขสัญญาในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ
          (1) ข้อตกลงเรื่องรูปแบบ ปริมาณ จำนวน ราคา
          (2) การขยายเวลา งดหรือลดค่าปรับ
          (3) การปรับ
          (4) การประกันความชำรุดบกพร่อง
     2. ไม่ใช้บังคับกับกรณีคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเป็นหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่เป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่น ปตท. การบินไทย เป็นต้น
     3. ไม่ใช้บังคับกับคู่สัญญาที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ และไม่มีตัวแทนหรือผู้แทนในประเทศ แต่มีการส่งมอบหรือให้บริการในประเทศ และหน่วยงานของรัฐได้ชำระเงินตามสัญญาให้แก่คู่สัญญาออกไปต่างประเทศโดยตรง

วิธีการใช้จ่ายเงินของคู่สัญญา
     ต้องรับจ่ายเงินผ่านบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เว้นแต่เป็นการจ่ายเงินสดในแต่ละครั้งจำนวนเงินไม่เกิน 30,000.- บาท (สามหมื่นบาทถ้วน)

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ